คำถามเรื่องเหงื่อมือ
คำถามท้ายรายการ จากการสัมภาษณ์ นพ. วารินทร์ วชิรปัญญานุกูล รายการสายตรงสุขภาพ ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ วันที่ 1 มีนาคม 2558 (ตอนที่ 3)
- Q : เหงื่อออกตามเท้าตามมือมีกลิ่นที่ผิดปกติไหม
A : ทั่วไปแล้วที่มือคงไม่มีครับ แต่ถ้าเป็นที่เท้าที่อับมากใส่รองเท้าถุงเท้า ก็คงจะมีกลิ่นอยู่บ้าง พวกที่มีปัญหาเยอะหน่อยคือที่วงแขนที่ชื้น และก็อาจจะมีโอกาสที่จะมีกลิ่นตัวได้ง่ายขึ้น อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเหงื่อมีกลิ่น แต่เป็นความอับชื้นในจุดที่เกิดขึ้น
- Q : ผู้ป่วยที่มีเหงื่อมากผิดปกติควรจะจำกัดอาหารหรือไม่ เพื่อไม่ให้เหงื่อออกเยอะ
A : ถ้าเป็นกลุ่มปฐมภูมิ ที่เหงื่อออกมือและเท้า ก็คงไม่มีข้อจำกัดเรื่องนี้เท่าไหร่ ในขณะที่พวกที่ออกตามตัว ผมยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนเรื่องนี้ แต่ถ้ามองอาหารที่เป็นไขมันที่มีแคลอรี่ค่อนข้างจะสูง ในหลักการน่าจะทำให้มีเมตาโบลิซึมที่สูงในร่างกาย ดังนั้นโอกาสที่จะต้องหลั่งเหงื่อออกก็น่าจะมากขึ้น ยามียาต้านความซึมเศร้าบางตัว ฮอร์โมนบางตัว เท่าที่มีรายงาน ยาปฏิชีวนะบางตัวก็มีการพูดถึงทำให้เกิดเหงื่อออกมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกตัวครับ
- Q : ผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ มีวิธีป้องกันไหม
A : คือถ้าใช้คำว่าป้องกัน คำตอบคือไม่มีครับ ถ้าเป็นกลุ่มปฐมภูมิ นึกจะออกก็ออก เพราะไม่มีสาเหตุ มีบางรายที่มาคุยให้ฟังว่า บางทีทำอะไรบางอย่าง กิริยาบางอย่าง หรือสารบางตัว เช่น ทาโลชั่น แล้วรู้สึกเหงื่อออกที่มือ เหมือนไปกระตุ้นให้เหงื่อออกมากขึ้น ถ้าในกรณีนั้นจริง คนไข้ควรจะรู้ว่า ทำอะไรแล้วเป็นก็หลีกเลี่ยงอันนั้น
- Q : ภาวะตื่นเต้นมีส่วนทำให้เหงื่อออกไหม
A : ตื่นเต้นมีส่วนที่ทำให้เหงื่อออกมากขึ้น หรือภาวะเครียด อย่างคนที่เหงื่อออกมือออกเท้า บางคนตื่นเต้นจะทำให้เหงื่อออกมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พอหายตื่นเต้นแล้วจะไม่ออก
- Q : ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติติดต่อกันได้ไหม
A : ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดในพันธุกรรม 30-40%
- Q : เหงื่อออกที่มือและเท้าเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือเปล่า
A : เป็นคำถามที่เจอบ่อย คำตอบคือ ไม่ใช่ คนเป็นโรคหัวใจเหงื่อมือเท้าไม่ออกเยอะครับ แต่ถ้าไทรอยด์เกี่ยวกับโรคหัวใจ
- Q : เวลาใส่รองเท้าเหงื่อออกมามาก เป็นโรคเหงื่อออกผิดปกติหรือเปล่า
A : ถ้าดูตามนี้น่าเป็นกลุ่มปฐมภูมิ ก็คือเป็นเหงื่อออกมากผิดปกติ บางคนผู้ชายเหงื่อออกเยอะที่เท้า ไม่อยากใช้คำว่าโรคใช้คำว่าอาการผิดปกติมากกว่า ถ้าเป็นโรคเราต้องหาสาเหตุของโรคและก็หาวิธีรักษาตามสาเหตุ แต่กลุ่มพวกนี้ไม่ได้มีโรค แต่มีอาการพวกนี้ การรักษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับชีวิตประจำวันที่ใช้อยู่ ว่าปัญหานี้เป็นปัญหากับชีวิตประจำวันหรือเปล่ามากกว่า
- Q : ผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เช่น โรงพยาบาลตำรวจ
A : ราคาเป็นหมื่นครับ ไม่ถึงกับเป็นแสน หมื่นกลางๆ เอาเป็นว่าไม่เกิน 40,000 บาท หรือใช้ประกันสังคมได้ถ้าเป็นประกันสังคมโรงพยาบาลตำรวจ
- Q : หลังจากการผ่าตัดคือต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างไร มี effect ในช่วงหลังผ่าตัดไหม
A : หลังผ่าตัดคนไข้ตื่นขึ้นมาจะเริ่มรู้สึกเลยว่า มือแห้งขึ้นในวันนั้นเลย สิ่งหนึ่งที่จะรู้สึกคือหายใจขัดตั้งแต่เริ่มฟื้นขึ้นมา เหมือนหายใจตื้น หายใจลึกไม่ค่อยได้ และแน่นหน้าอก อันนี้จะเป็นภาพหลังผ่าตัดตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ซึ่งอาการพวกนี้จะดีขึ้นวันต่อวัน ไม่เกิน 1 อาทิตย์ก็ปกติ แต่ว่าคนไข้ตื่นขึ้นมาหลังจากผ่าตัด ในเย็นวันนั้นก็จะกินอะไรได้ปกติ ที่เหลืออาจจะมีอาการปวดหลังบ้างเกิดได้ในช่วงแรกๆ เพราะตำแหน่งปมประสาทวางอยู่ตรงซี่โครงด้านหลัง การจี้พวกนี้ทำให้เจ็บอยู่บ้างในบางครั้ง และที่สำคัญที่สุด ในช่วงแรกมีอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องแผล ต้องดูแลไม่ให้ติดเชื้อ โดยทั่วไปก็ 1 อาทิตย์ก็ตัดไหม และก็อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องเหงื่อออกชดเชย ต้องรับรู้ว่ามีโอกาสเหงื่อออกมากขึ้นตามแผ่นหลัง ต้นขา ซึ่งพวกนี้ ทั่วไปก็ไม่ได้มีการรักษา และคนไข้ก็ควรจะรู้ว่าออกมากน้อยแค่ไหน และก็หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เหงื่อออกง่าย เช่น ที่ร้อนชื้น
- Q : หลังหูและหนังศรีษะมีเหงื่อออกมาก ถือว่าผิดปกติหรือไม่
A : ครับ อยู่ในกลุ่มปฐมภูมิครับ
- Q : อาหารที่เร่งให้เหงื่อออกมากและมีกลิ่น ควรเลี่ยงอะไร
A : จะมีคนไข้อยู่กลุ่มหนึ่ง ที่เจออาหารที่ฉุนและที่เผ็ด ก็ทำให้เหงื่อออกที่หน้าที่ศีรษะ เป็นกลุ่มอาการอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เจอทุกคน ปริมาณไม่เยอะเท่าไหร่ คนไข้ถ้ารู้ก็เลี่ยงอาหาร เช่น อาหารเผ็ดๆ
- Q : อ้วน เบาหวาน ผ่าตัด เพราะมีภาวะเหงื่อ มีผลข้างเคียงไหม
A : ถ้าเป็นภาวะเหงื่อที่เกิดจากอ้วน เรื่องเบาหวาน การรักษาคือการรักษาอ้วน เบาหวาน ไม่ได้รักษาผ่าตัด ที่เราพูดเรื่องผ่าตัดคือกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุมาจากโรค คือ พวกที่เหงื่อออกมือ เท้า รักแร้ ไม่ใช่เหมือนอ้วนหรือเบาหวานที่ออกทั่วตัว ดังนั้นการรักษาจะเป็นการรักษาตามสาเหตุ ถ้าอ้วนก็ไปรักษาเรื่องการคุมน้ำหนัก เบาหวานก็คุมน้ำตาล ไม่ใช่รักษาด้วยการผ่าตัด
- Q : ฝ่าเท้าเหงื่อออก เกี่ยวกับภาวะผิดปกติหรือไม่ จะสังเกตอย่างไร
A : ถ้าภาวะผิดปกติเหงื่อผิดปกติจะไม่ออกตอนนอน มาสังเกตกับเท้าได้เช่นกัน มือ เท้า รักแร้ และใบหน้า ส่วนใหญ่ประสบการณ์ที่เจอ 400 กว่าราย คนไข้ที่มีปัญหามือ ส่วนใหญ่มาคู่กับเท้า เกือบจะ 100% ประเด็นที่เรากำลังจะพูดคือ ถ้าลงท้ายที่การรักษา การรักษาจะเน้นผลที่ได้กับมือมากกว่า
- Q : ผ่าตัดแล้ว มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่ได้หรือไม่
A : ตามสถิติ การศึกษา และตัวเลขที่มีคือ 2% ถ้าจะเกิดคือเกิดใน 2 ปีแรก
- Q : มีคนที่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผลไหม
A : ตามตัวเลขคือของผม 400 กว่าราย มีไม่ได้ผล ถ้าจำไม่ผิดสัก 2-3 ราย ตัวเลขที่ได้ผลคือ 95-97% ของคนไข้ แต่ตามสถิติที่เรามีในโรงพยาบาล ที่กลับมาหา ก็คงบอกไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วมีเท่านี้จริงไหม อาจจะมีบางคนที่เป็นมาใหม่ และก็หรือไม่ได้ผล แต่ไม่กลับมา แต่คนที่กลับมาแล้วก็ได้รับการรักษาใหม่ มีประมาณ 3 ราย
- Q : การผ่าตัดมีผลข้างเคียงหรืออันตรายหรือไม่
A : ในหลักการ เป็นการผ่าตัดซึ่งต้องดมยาสลบ เอาเครื่องมือส่องเข้าไปในช่องอก เป็นการผ่าตัดใหญ่ เพียงแต่ว่าเป็นการผ่าตัดที่ไม่ได้ซับซ้อนมากมาย เพราะว่าเรามีวิธีการทำให้ปอดแฟบ กายวิภาคต่างๆ เป็นการขยายออกจอทีวีซึ่งขยายใหญ่กว่าปกติ แต่ว่าในการผ่าตัดทุกอย่าง ไม่มีอะไรบอกได้ว่าปลอดภัย 100% ตั้งแต่ดมยาสลบ คนไข้แพ้ยาก็มีผล คนไข้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก็จะมีความเสี่ยง แต่โอกาสพวกนี้ทั้งหมด ก่อนที่คนไข้จะได้รับการผ่าตัด ต้องได้รับการประเมินแล้วว่า ความเสี่ยงพวกนี้ได้รับการรักษาไปแล้ว หรือมีเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยพอที่จะดมยาสลบ และก็ในเชิงการผ่าตัดก็จะมี โอกาส ในช่องอก มีทั้งตัวปอด มีเส้นเลือดใหญ่ทั้งหลาย พวกนี้เป็นความเสี่ยงหมด แต่ว่าในเทคนิคเรายุบปอด มีช่องว่างใหญ่มาก ภาพออกจอขยายเยอะ พวกนี้ทำให้โอกาสการเกิดปัญหาเป็นรายงานประเภทหนึ่งในหลายๆ หมื่น ถ้าในเชิงความปลอดภัยค่อนข้างจะยอมรับได้ เว้นแต่เพียงว่า การผ่าตัดไม่มีอะไรที่การันตี 100%