สิทธิผู้ป่วยและครอบครัว (Patient and Family Rights)
มาตรฐาน PFR.1
องค์กรมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีกระบวนการสนับสนุนสิทธิผู้ป่วยและครอบครัวระหว่างการดูแล ℗
เจตนาของ PFR.1
ผู้นำองค์กรเป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อวิธีการที่องค์กรจะปฏิบัติต่อผู้ป่วย | ผู้นำจึงต้องรู้และเข้าใจในสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงความรับผิดชอบขององค์กรตามที่ระบุไว้ในกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ | จากนั้นผู้นำจะกำหนดทิศทางเพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรทั่วทั้งองค์กรถือเป็นหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว | เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิผล ผู้นำต้องทำงานร่วมกันและทำความเข้าใจในหน้าที่รับผิดชอบของตนที่สัมพันธ์กับชุมชนที่องค์กรให้บริการ
องค์กรเคารพสิทธิผู้ป่วย และสิทธิของครอบครัวผู้ป่วยในบางกรณี ที่จะกำหนดว่าสารสนเทศเกี่ยวกับการดูแลใดบ้างที่จะสามารถเปิดเผยให้ครอบครัวหรือบุคคลอื่นทราบ และเปิดเผยในลักษณะใด | ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจไม่ต้องการให้ครอบครัวมีส่วนรับรู้ในการวินิจฉัยโรคที่ตนเป็น
สิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการติดต่อสัมพันธ์ทั้งหมดระหว่างองค์กร บุคลากร กับผู้ป่วยและครอบครัว | ดังนั้น จึงมีการจัดทำนโยบายและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรทั้งหมดมีความตระหนักและตอบสนองต่อสิทธิผู้ป่วยและครอบครัว เมื่อจะต้องมีปฏิสัมพันธ์และให้การดูแลผู้ป่วย | องค์กรกำหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติด้วยกระบวนการของความร่วมมืออย่างกว้างขวาง รวมถึงการนำผู้ป่วยและครอบครัวมาร่วมด้วย (ดูที่ COP.9)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.1
Ο 1. ผู้นำองค์กรทำงานร่วมกันเพื่อให้การคุ้มครองและทำให้เพิ่มขึ้นซึ่งสิทธิผู้ป่วยและครอบครัว
Ο 2. ผู้นำมีความเข้าใจในสิทธิผู้ป่วยและครอบครัว ที่ระบุไว้ในกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และที่สัมพันธ์กับการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชุมชนหรือผู้ป่วยที่ให้บริการ
Ο 3. องค์กรเคารพสิทธิผู้ป่วย (และสิทธิของครอบครัวผู้ป่วยในบางกรณี) ที่จะกำหนดว่าสารสนเทศเกี่ยวกับการดูแลใดบ้างที่จะสามารถเปิดเผยให้ครอบครัวหรือบุคคลอื่นทราบ และเปิดเผยภายใต้สถานการณ์ใด
Ο 4. บุคลากรมีความรู้ในนโยบายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิผู้ป่วย และสามารถอธิบายได้ถึงหน้าที่รับผิดชอบของตนในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย
มาตรฐาน PFR.1.1
องค์กรหาวิธีลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงและได้รับบริการ ทั้งในด้านกายภาพ ภาษา วัฒนธรรม และอุปสรรคอื่นๆ
เจตนาของ PFR.1.1
องค์กรมักจะให้บริการต่อชุมชนที่ประชากรมีความหลากหลาย | ผู้ป่วยอาจจะเป็นผู้สูงอายุ มีความพิการ พูดด้วยภาษาและสำเนียงที่หลากหลาย มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือมีอุปสรรคอื่นๆ ซึ่งทำให้กระบวนการในการเข้าถึงและรับบริการเป็นเรื่องที่ยากลำบาก | องค์กรระบุอุปสรรคเหล่านี้ และมีกระบวนการที่จะขจัดหรือลดอุปสรรคในการแสวงหาการดูแลของผู้ป่วยดังกล่าว | นอกจากนั้น องค์กรยังดำเนินการเพื่อลดผลกระทบของอุปสรรคต่อการให้บริการเหล่านี้ (ดูที่ COP.1, PFE.2.1 และ GLD.12)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.1.1
Ο 1. ผู้นำและบุคลากรขององค์กรระบุอุปสรรคในกลุ่มผู้ป่วยขององค์กรที่พบบ่อย
Ο 2. มีกระบวนการที่จะเอาชนะหรือจำกัดอุปสรรคสำหรับการแสวงหาการดูแลของผู้ป่วย
Ο 3. มีกระบวนการจำกัดผลกระทบของอุปสรรคต่อการให้บริการ
มาตรฐาน PFR.1.2
การดูแลเป็นไปด้วยความตระหนักและเคารพในค่านิยมและความเชื่อส่วนตัวของผู้ป่วย และคำขอเกี่ยวกับความเชื่อด้านจิตวิญญาณและศาสนาของผู้ป่วย
เจตนาของ PFR.1.2
ผู้ป่วยแต่ละคนมีค่านิยมและความเชื่อของตนติดตัวมาเมื่อเข้ารับการดูแล | ความเชื่อและค่านิยมบางอย่างเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนยึดถือ ซึ่งมักจะมีต้นกำเนิดจากวัฒนธรรมและศาสนา | ความเชื่อและค่านิยมบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละคน | ผู้ป่วยทุกคนควรได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกซึ่งความเชื่อของตน ในวิถีทางที่เคารพต่อความเชื่อของผู้อื่น
ค่านิยมและความเชื่อที่ผู้ป่วยยืดถืออย่างเหนียวแน่น มีผลต่อการกำหนดกระบวนการดูแลและการตอบสนองต่อการดูแลของผู้ป่วยได้ | ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพแต่ละคนจะต้องทำความเข้าใจการดูแลและบริการที่ตนจัดให้ภายใต้สภาพแวดล้อมของค่านิยมและความเชื่อของผู้ป่วย
องค์กรมีกระบวนการตอบสนองต่อคำขอของผู้ป่วยและครอบครัวที่จะพูดกับผู้หนึ่งผู้ใดเกี่ยวกับความต้องการทางด้านศาสนาหรือจิตวิญญาณ | กระบวนการนั้นอาจดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทางศาสนาขององค์กร ของท้องถิ่น หรือแหล่งอื่นที่ครอบครัวระบุ | กระบวนการตอบสนองอาจซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น เมื่อองค์กรหรือประเทศไม่มีการรับรู้ และ/หรือ ไม่มีแหล่งทรัพยากรด้านศาสนาหรือความเชื่ออย่างเป็นทางการซึ่งอาจได้รับคำขอ
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.1.2
Ο 1. องค์กรระบุค่านิยมและความเชื่อส่วนตัวของผู้ป่วย
Ο 2. บุคลากรใช้กระบวนการและให้การดูแลโดยเคารพต่อค่านิยมและความเชื่อของผู้ป่วย
Ο 3. องค์กรตอบสนองคำขอความช่วยเหลือด้านศาสนาหรือจิตวิญญาณ ทั้งคำขอแบบทั่วไปและแบบพิเศษ
มาตรฐาน PFR.1.3
การดูแลเป็นไปด้วยความเคารพต่อความต้องการของผู้ป่วยเกี่ยวกับภาวะความเป็นส่วนตัว ℗
เจตนาของ PFR.1.3
ภาวะความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างซักประวัติ การตรวจร่างกาย การทำหัตถการ/ให้การรักษา และการเคลื่อนย้าย เป็นสิ่งสำคัญ | ผู้ป่วยอาจต้องการภาวะความเป็นส่วนตัว โดยไม่มีบุคลากร ผู้ป่วยอื่นๆ และแม้แต่สมาชิกในครอบครัวอยู่ร่วมด้วย | นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจไม่ต้องการถูกถ่ายรูป ถูกบันทึก หรือถูกสัมภาษณ์ในระหว่างการเยี่ยมสำรวจ | แม้ว่าจะมีบางเรื่องที่ใช้วิธีการเดียวกันในการจัดให้มีภาวะความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ป่วยทุกคน ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีความต้องการและความคาดหวังต่อภาวะความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างกันหรือเพิ่มเติมขึ้นตามแต่สถานการณ์ นอกจากนั้นความต้องการและความคาดหวังเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา | ดังนั้น ในขณะที่ให้บริการและการดูแลแก่ผู้ป่วย บุคลากรควรสอบถามความต้องการและความคาดหวังเกี่ยวกับภาวะความเป็นส่วนตัวในการได้รับการดูแลหรือบริการไปด้วย | การสื่อสารระหว่างบุคลากรและผู้ป่วยดังกล่าวนี้จะช่วยสร้างความไว้วางใจและการสื่อสารอย่างเปิดเผย โดยไม่จำเป็นต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
สารสนเทศทางการแพทย์และสุขภาพอื่นๆ ที่ได้รับการบันทึกและจัดเก็บไว้ มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจผู้ป่วยและความต้องการของผู้ป่วย และต่อการให้การดูแลรักษาและบริการ เมื่อเวลาผ่านไป | สารสนเทศนี้อาจอยู่ในรูปแบบของกระดาษ หรืออิเล็คทรอนิค หรือทั้งสองอย่าง | องค์กรเคารพในความลับของสารสนเทศดังกล่าว ดำเนินการตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติเพื่อปกป้องข้อมูลจากการสูญหายหรือนำไปใช้ในทางที่ผิด | นโยบายและระเบียบปฏิบัติระบุถึงสารสนเทศที่ต้องเปิดเผยตามที่กำหนดในกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
เจ้าหน้าที่เคารพในความลับของผู้ป่วยโดยไม่ติดแสดงสารสนเทศที่เป็นความลับไว้ที่ประตูห้องผู้ป่วยหรือบริเวณที่ทำการพยาบาล รวมถึงไม่พูดคุยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในที่สาธารณะ | เจ้าหน้าที่ตระหนักในกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการรักษาความลับของสารสนเทศ และแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าองค์กรมีวิธีการในการรักษาความลับของสารสนเทศอย่างไร | ผู้ป่วยได้รับแจ้งให้ทราบว่ามีโอกาสที่จะเปิดเผยสารสนเทศในกรณีใดบ้าง เมื่อไร และมีวิธีการขออนุญาตอย่างไร
องค์กรมีนโยบายระบุหากจะให้ผู้ป่วยเข้าถึงสารสนเทศสุขภาพของตน และกระบวนการที่จะเข้าถึงเมื่อได้รับอนุญาต
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.1.3
Ο 1. บุคลากรค้นหาความคาดหวังและความต้องการของผู้ป่วยเกี่ยวกับภาวะความเป็นส่วนตัวในระหว่างการดูแลรักษา
Ο 2. บุคลากรให้ความเคารพต่อความต้องการเกี่ยวกับภาวะความเป็นส่วนตัวที่ผู้ป่วยแสดงออก ในระหว่างการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การทำหัตถการ/รักษา และการเคลื่อนย้าย ทั้งหมด (ดูที่ MOI.2 และ MOI.7)
Ο 3. การรักษาความลับของสารสนเทศได้รับการเก็บรักษาโดยปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
Ο 4. ผู้ป่วยได้รับการขออนุญาต หากจะต้องมีการเปิดเผยสารสนเทศที่ไม่ถูกกำหนดโดยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
มาตรฐาน PFR.1.4
องค์กรดำเนินมาตรการที่จะปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ป่วยจากการถูกลักขโมยหรือสูญหาย
เจตนาของ PFR.1.4
องค์กรสื่อสารให้ผู้ป่วยและครอบครัวทราบถึงหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อทรัพย์สินของผู้ป่วย (ถ้ามี) | เมื่อองค์กรมีความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของผู้ป่วยบางส่วนหรือทั้งหมดที่นำเข้ามาในองค์กรแล้ว จะต้องมีกระบวนการจัดทำรายการทรัพย์สินและทำให้มั่นใจว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะไม่สูญหายหรือถูกลักขโมย | กระบวนการนี้รวมถึงทรัพย์สินของผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่มาผ่าตัดประเภทวันเดียวกลับ ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยซึ่งไม่สามารถจัดการเก็บรักษาทรัพย์สินให้ปลอดภัยด้วยวิธีการอื่น และผู้ป่วยที่ไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.1.4
Ο 1. องค์กรกำหนดระดับความรับผิดชอบที่จะมีต่อทรัพย์สินของผู้ป่วย
Ο 2. ผู้ป่วยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิดชอบขององค์กรในการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคล
Ο 3. ทรัพย์สินของผู้ป่วยได้รับการดูแลคุ้มครอง เมื่อองค์กรมีนโยบายที่จะรับผิดชอบ หรือเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรับผิดชอบดูแลได้ด้วยตนเอง
มาตรฐาน PFR.1.5
ผู้ป่วยได้รับการป้องกันการถูกทำร้ายร่างกายและผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม
เจตนาของ PFR.1.5
องค์กรรับผิดชอบในการป้องกันผู้ป่วยจากการถูกทำร้ายร่างกายโดยผู้มาเยือน ผู้ป่วยอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ | ความรับผิดชอบนี้ต้องเน้นเป็นพิเศษสำหรับ ทารก เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองหรือไม่สามาถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ | องค์กรป้องกันการทำร้ายร่างกายโดยใช้กระบวนการต่างๆ เช่น การสอบสวนบุคคลที่เข้ามาในสถานที่โดยไม่มีการบ่งชี้ตัวบุคคล การตรวจสอบหรือสอดส่องดูแลพื้นที่ที่อยู่ลับตาหรือพื้นที่เปลี่ยว และการตอบสนองต่อผู้ที่คิดว่าตกอยู่ในอันตรายจากการทำร้ายร่างกายอย่างรวดเร็ว
แต่ละองค์กรระบุ กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ) และจัดให้มีกระบวนการเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยแต่ละรายในกลุ่มเหล่านี้ | กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ และความรับผิดชอบขององค์กร อาจถูกระบุไว้ในกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ | เจ้าหน้าที่เข้าใจหน้าที่รับผิดชอบของตนในกระบวนการเหล่านี้ | เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งถูกระบุไว้ ได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นอย่างน้อย | ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวและผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางด้านจิตใจหรืออารมณ์ที่มารับบริการในองค์กรก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองเช่นเดียวกัน | การปกป้องคุ้มครองครอบคลุมทั้งการป้องกันการทำร้ายร่างกายและประเด็นความปลอดภัยอื่นๆ เช่น การป้องกันจากการถูกละเมิด กระทำรุนแรง (abuse) ละเลยไม่ดูแล ไม่ให้บริการ หรือไม่ให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ (ดูที่ FMS.4.1 และ FMS.7)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.1.5
Ο 1. องค์กรมีกระบวนการป้องกันผู้ป่วยจากการถูกทำร้ายร่างกาย
Ο 2. องค์กรระบุกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ที่มีความเสี่ยงสูง
Ο 3. องค์กรมีกระบวนการป้องกันผู้ป่วยที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จากประเด็นความปลอดภัยอื่นๆ
Ο 4. พื้นที่ที่อยู่ลับตาหรือพื้นที่เปลี่ยวได้รับการตรวจสอบหรือสอดส่องดูแล
Ο 5. เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในหน้าที่รับผิดชอบของตนต่อกระบวนการปกป้องคุ้มครอง
มาตรฐาน PFR.2
องค์กรสนับสนุนสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการดูแล ℗
เจตนาของ PFR.2
ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในกระบวนการดูแล โดยการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแล ถามคำถามเกี่ยวกับการดูแล ขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่น รวมถึงการปฏิเสธกระบวนการตรวจวินิจฉัยและรักษา | เมื่อผู้ป่วยขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่น องค์กรได้รับการคาดหวังว่าจะไม่ห้าม ป้องกัน หรือขัดขวาง ผู้ป่วย แต่องค์กรจะอำนวยความสะดวกโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะของผู้ป่วย เช่น ผลการทดสอบ การวินิจฉัย คำแนะนำในการรักษา และอื่นๆ ที่คล้ายกัน | องค์กรจะต้องไม่ระงับข้อมูลหากผู้ป่วยขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่น | องค์กรไม่คาดหวังให้ผู้ป่วยจ่ายเมื่อผู้ป่วยร้องขอ | นโยบายและระเบียบปฏิบัติระบุสิทธิผู้ป่วยในการขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นโดยไม่ต้องเกรงว่าการดูแลภายในหรือนอกองค์กรที่จะด้อยลง
องค์กรสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลทุกด้าน | บุคลากรทุกคนได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายและระเบียบปฏิบัติ รวมถึงบทบาทของตนในการสนับสนุนสิทธิผู้ป่วยและครอบครัวที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการดูแล (ดูที่ COP.7, ME 5)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.2
Ο 1. องค์กรสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในกระบวนการดูแล
Ο 2. องค์กรอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในการขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นโดยไม่ต้องเกรงว่าการดูแลของตนภายในหรือนอกองค์กรจะด้อยลง
Ο 3. บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายและระเบียบปฏิบัติ รวมถึงบทบาทในการสนับสนุนให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในกระบวนการดูแล
มาตรฐาน PFR.2.1
องค์กรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบเกี่ยวกับการดูแลรักษาทางการแพทย์ทุกด้าน
เจตนาของ PFR.2.1
เพื่อที่ผู้ป่วยและครอบครัวจะมีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาได้นั้น ผู้ป่วยและครอบครัวต้องได้รับสารสนเทศพื้นฐานเกี่ยวกับสภาวะการเจ็บป่วยที่ตรวจพบระหว่างการประเมิน รวมถึงการวินิจฉัยโรคที่ได้รับการยืนยัน (ถ้ามี) และข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาที่จะเกิดขึ้น | ในระหว่างกระบวนการดูแล ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับแจ้งผลลัพธ์ของการดูแลรักษาที่ดำเนินการไปตามแผน | การได้รับแจ้งผลลัพธ์ของการดูแลรักษาที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เช่น เหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ระหว่างการผ่าตัด จากยาที่แพทย์สั่ง หรือจากการรักษาอื่นๆ
ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจว่ามีสิทธิจะได้รับทราบสารสนเทศดังกล่าว และใครมีหน้าที่รับผิดชอบในการแจ้ง | ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจประเภทของการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลที่ต้องกระทำ และวิธีการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเหล่านั้น | นอกจากนั้น ผู้ป่วยและครอบครัวยังต้องเข้าใจกระบวนการขององค์กรในการขอความยินยอม รวมถึงว่ากระบวนใดเกี่ยวกับการดูแล การตรวจวิเคราะห์ การทำหัตถการ และการรักษาที่จำเป็นต้องได้รับความยินยอม
แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจไม่ต้องการทราบผลการวินิจฉัยโรคที่ได้รับการยืนยันหรือไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแล ผู้ป่วยเหล่านี้ก็ยังได้รับโอกาสและสามารถเลือกมีส่วนร่วมผ่านสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือผู้ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ตัดสินใจ
ผู้ป่วยควรทราบชัดเจนถึงบุคคลผู้แจ้งสารสนเทศ เกี่ยวกับสภาวะการเจ็บป่วย การดูแลรักษา ผลลัพธ์ เหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ และอื่นๆ ที่คล้ายกัน
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.2.1
Ο 1. ผู้ป่วยและครอบครัวรับทราบถึงสภาวะการเจ็บป่วยและผลการวินิจฉัยโรคที่ได้รับการยืนยัน
Ο 2. ผู้ป่วยและครอบครัวรับทราบถึงการดูแลรักษาที่วางแผนไว้
Ο 3. ผู้ป่วยรับทราบว่าเมื่อใดจะมีการขอความยินยอม และกระบวนการที่จะให้ความยินยอม
Ο 4. ผู้ป่วยรับทราบวิธีการที่จะได้รับแจ้งผลลัพธ์ของการดูแลรักษา
Ο 5. ผู้ป่วยรับทราบวิธีการที่จะได้รับแจ้งผลลัพธ์ของการดูแลรักษาที่ไม่อาจคาดการณ์ได้
Ο 6. ผู้ป่วยและครอบครัวรับทราบในสิทธิของตนที่จะมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลในระดับที่ตนต้องการ
มาตรฐาน PFR.2.2
องค์กรแจ้งให้ผู้ป่วยและครอบครัวทราบเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบของตนที่จะปฏิเสธหรือขอยุติการรักษา ไม่ให้มีการช่วยกู้ชีวิต และการละเว้นหรือยุติการรักษาเพื่อยืดชีวิต
เจตนาของ PFR.2.2
ผู้ป่วยหรือผู้ได้รับมอบหมายให้ตัดสินใจแทน อาจตัดสินใจไม่รับการดูแลรักษาตามแผนที่วางไว้ หรือขอยุติการดูแลรักษาที่ได้เริ่มไปแล้ว | การตัดสินใจเกี่ยวกับการไม่ให้มีการช่วยกู้ชีวิต การละเว้นหรือยุติการรักษาเพื่อยืดชีวิต เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุด | การตัดสินใจนี้ไม่ได้ยากเฉพาะผู้ป่วยและครอบครัวเท่านั้น แต่ยากสำหรับผู้ให้บริการสุขภาพ และองค์กรด้วยเช่นกัน | ไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะมีกระบวนการเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการตัดสินใจในทุกสถานการณ์ | ด้วยเหตุนี้ จึงมีความสำคัญสำหรับองค์กรที่จะต้องจัดทำกรอบแนวคิดสำหรับการตัดสินใจที่ยากลำบากเหล่านี้
กรอบแนวคิดดังกล่าว
– ช่วยให้องค์กรระบุจุดยืนของตนในประเด็นเหล่านี้
– ทำให้มั่นใจว่าจุดยืนขององค์กรสอดคล้องกับบรรทัดฐานทางศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชน ตลอดจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับการช่วยกู้ชีวิตไม่สอดคล้องกับความปรารถนาของผู้ป่วย
– ระบุสถานการณ์ซึ่งการตัดสินใจเหล่านี้อาจถูกปรับเปลี่ยนไปในระหว่างการดูแล และ
– ให้แนวทางแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเกี่ยวกับประเด็นด้านจริยธรรมและก ฎหมาย ในการปฏิบัติตามความปรารถนาของผู้ป่วย
เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามความปรารถนาของผู้ป่วยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน องค์กรจัดทำนโยบายและระเบียบปฏิบัติผ่านกระบวนการที่รวมเอาวิชาชีพและมุมมองที่หลากหลายเข้ามาร่วม | นโยบายและระเบียบปฏิบัติระบุถึงลำดับชั้นของภาระและหน้าที่รับผิดชอบ ตลอดจนวิธีการบันทึกกระบวนการที่ปฏิบัติในเวชระเบียนผู้ป่วย
องค์กรแจ้งให้ผู้ป่วยและครอบครัวทราบถึงสิทธิในการตัดสินใจนี้ ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น และความรับผิดชอบของผู้ป่วยและครอบครัวต่อการตัดสินใจดังกล่าว | ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกอื่นๆ ในการดูแลรักษา
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.2.2
Ο 1. องค์กรระบุจุดยืนของตนเกี่ยวกับการระงับบริการกู้ชีวิต และการละเว้นหรือการยุติการรักษาเพื่อยืดชีวิต
Ο 2. จุดยืนขององค์กรสอดคล้องกับบรรทัดฐานทางศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงกฏหมายและระเบียบบังคับที่มีอยู่
Ο 3. องค์กรให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับสิทธิที่จะปฏิเสธหรือขอยุติการรักษา และความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจดังกล่าว
Ο 4. องค์กรให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินใจของผู้ป่วย
Ο 5. องค์กรให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับทางเลือกของการดูแลรักษาที่มี
Ο 6. องค์กรให้แนวทางแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเกี่ยวกับหลักกฎหมายและจริยธรรมในการปฎิบัติตามความปรารถนาของผู้ป่วยเกี่ยวกับทางเลือกของการรักษา
มาตรฐาน PFR.2.3
องค์กรสนับสนุนสิทธิผู้ป่วยที่จะได้รับ การประเมินและบำบัดความเจ็บปวดอย่างเหมาะสม และการดูแลด้วยความเคารพและความเห็นอกเห็นใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต
เจตนาของ PFR.2.3
ความเจ็บปวดเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโดยทั่วไป ซึ่งหากไม่ได้รับการบำบัดจะมีผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ | การตอบสนองต่อความเจ็บปวดของผู้ป่วยมักจะเป็นไปตามบริบทของบรรทัดฐานและประเพณีทางสังคมและศาสนา | ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้บ่งบอกความเจ็บปวด
ผู้ป่วยที่กำลังจะสิ้นชีวิตมีความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะในการดูแลด้วยความเคารพและความเห็นอกเห็นใจ | ข้อกังวลต่อความสะดวกสบายและศักดิ์ศรีของผู้ป่วยจะเป็นแนวทางสำหรับการดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิตในทุกแง่มุม | เพื่อบรรลุเจตจำนงนี้ บุคลากรทุกคนจะต้องตระหนักในความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยระยะสุดท้าย | ความต้องการเหล่านี้ได้แก่การบำบัดรักษาอาการหลักและอาการที่ตามมา การบำบัดความเจ็บปวด การตอบสนองต่อความอาทรด้านจิตใจ สังคม อารมณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมของผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนการมีส่วนร่วมตัดสินใจในการดูแล
กระบวนการดูแลขององค์กรคำนึงถึงและแสดงออกถึงสิทธิของผู้ป่วยทุกรายที่จะได้รับการประเมินและบำบัดความเจ็บปวดอย่างเหมาะสม และการประเมินและจัดการกับความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะในช่วงสุดท้ายของชีวิต (ดูที่ COP.7)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.2.3
Ο 1. องค์กรเคารพและสนับสนุนสิทธิผู้ป่วยในการที่จะได้รับการประเมินและบำบัดความเจ็บปวดอย่างเหมาะสม
Ο 2. องค์กรเคารพและสนับสนุนสิทธิผู้ป่วยที่กำลังจะสิ้นชีวิต ในการที่จะได้รับการประเมินและจัดการกับความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะ
Ο 3. บุคลากรขององค์กรเข้าใจถึงอิทธิพลของปัจจัยด้านบุคคล วัฒนธรรม และสังคม ที่มีผลต่อผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด
Ο 4. บุคลากรขององค์กรเข้าใจถึงอิทธิพลของปัจจัยด้านบุคคล วัฒนธรรม และสังคม ที่มีผลต่อผู้ป่วยที่กำลังจะสิ้นชีวิต
มาตรฐาน PFR.3
องค์กรแจ้งให้ผู้ป่วยและครอบครัวทราบเกี่ยวกับกระบวนการในการรับและจัดการข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้ง และข้อคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งสิทธิผู้ป่วยที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้ ℗
เจตนาของ PFR.3
ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะร้องเรียนเกี่ยวกับการดูแล ให้ข้อร้องเรียนดังกล่าวได้รับการทบทวน และแก้ไขข้อร้องเรียนดังกล่าวถ้าเป็นไปได้ | นอกจากนั้น บางครั้งการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลอาจก่อให้เกิดคำถาม ข้อขัดแย้ง หรือความยุ่งยาก แก่องค์กร ผู้ป่วย ครอบครัว หรือผู้มีส่วนตัดสินใจอื่นๆ | ความยุ่งยากนี้อาจเกิดจากประเด็นเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการ การรักษา หรือการจำหน่าย | หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการระงับการกู้ชีวิต การละเว้นหรือการยุติการรักษาเพื่อยืดชีวิต จะยิ่งหาข้อสรุปได้ยากขึ้น
องค์กรจัดให้มีกระบวนการเพื่อหาข้อยุติสำหรับข้อร้องเรียนและความยุ่งยากดังกล่าว. องค์กรระบุในนโยบายและระเบียบปฏิบัติว่าใครบ้างที่ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการ รวมถึงวิธีการที่ผู้ป่วยและครอบครัวจะมีส่วนร่วม (ดูที่ SQE.11)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.3
Ο 1. ผู้ป่วยได้รับแจ้งถึงกระบวนการที่จะยื่นข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้ง หรือข้อคิดเห็นที่แตกต่าง
Ο 2. ข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้ง และข้อคิดเห็นที่แตกต่าง ได้รับการสืบสวนโดยองค์กร
Ο 3. ข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้ง และข้อคิดเห็นที่แตกต่าง ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการดูแล ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วง
Ο 4. ผู้ป่วยและครอบครัว มีส่วนร่วมในกระบวนการหาข้อยุติ
มาตรฐาน PFR.4
ผู้ป่วยทุกคนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนในลักษณะและภาษาที่สามารถเข้าใจได้ง่าย
เจตนาของ PFR.4
การเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก อาจก่อให้เกิดความตกใจและสับสนต่อผู้ป่วย ทำให้ยากที่ผู้ป่วยจะใช้สิทธิของตน และเข้าใจหน้าที่ของตนในกระบวนการดูแล | ดังนั้น องค์กรจึงจัดเตรียมเอกสารระบุสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วยและครอบครัวให้แก่ผู้ป่วยเมื่อรับไว้เป็นผู้ป่วยในหรือเมื่อลงทะเบียนผู้ป่วยนอก และจัดให้มีพร้อมทุกครั้งที่มาตรวจหรือตลอดเวลาที่นอนรักษาตัว เช่น การติดคำประกาศสิทธิผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาล
คำประกาศนี้จะต้องมีความเหมาะสมกับอายุ ความเข้าใจ และภาษาของผู้ป่วย | ถ้าการสื่อสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้ผลหรือไม่เหมาะสม ผู้ป่วยและครอบครัวจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนด้วยภาษาและลักษณะที่สามารถเข้าใจได้
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFR.4
Ο 1. ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วยเป็นลายลักษณ์อักษร
Ο 2. มีการติดประกาศข้อความสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วย หรือบุคลากรมีพร้อมให้ตลอดเวลา
Ο 3. องค์กรมีกระบวนการแจ้งให้ผู้ป่วยทราบเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วย เมื่อการสื่อสารด้วยลายลักษณ์อักษรไม่ได้ผลหรือไม่เหมาะสม
PFR – PFR.1-PFR.4 | การยินยอมทั่วไป | การยินยอมโดยได้รับการบอกกล่าว | การบริจาคอวัยวะ