fbpx
WeLoveMed.com

AOP บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย

บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย (Radiology and Diagnostic Imaging Services)

มาตรฐาน AOP.6 (แก้คำผิด)
มีบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยพร้อมให้บริการเพื่อตอบสนองภาวะความต้องการของผู้ป่วย บริการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐาน กฎหมายระเบียบข้อบังคับ ของท้องถิ่นและประเทศ

เจตนาของ AOP.6
องค์กรมีระบบสำหรับจัดบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยตามลักษณะประชากรผู้ป่วย บริการทางคลินิกที่มีอยู่ และความต้องการของผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพ | บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยเป็นไปตามมาตรฐาน กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ของท้องถิ่นและประเทศ
บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย รวมถึงบริการที่ต้องการในกรณีฉุกเฉิน อาจจะจัดให้มีขึ้นในองค์กรเอง หรือส่งตรวจองค์กรอื่นที่มีข้อตกลงกัน หรือทั้งสองอย่าง | บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยสำหรับกรณีฉุกเฉินเปิดให้บริการนอกเวลาทำการปกติด้วย | นอกจากนี้ องค์กรสามารถระบุและติดต่อผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคเฉพาะทางเมื่อจำเป็น เช่น รังสีฟิสิกส์ (radiation physics) รังสีมะเร็งวิทยา (radiation oncology) หรือเวชศาสตร์นิวเคลียร์ | องค์กรมีบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
แหล่งให้บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยภายนอกสะดวกต่อการเข้าถึงสำหรับผู้ป่วย และได้รับรายงานในเวลารวดเร็วสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในการดูแล | องค์กรคัดเลือกแหล่งให้บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยภายนอกตามคำแนะนำของหัวหน้าหรือผู้รับผิดชอบบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย | แหล่งให้บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยภายนอกเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง มีผลงานเป็นที่ยอมรับในเรื่องความถูกต้องและตรงเวลา | ผู้ป่วยได้รับรู้หากแพทย์ผู้ส่งตรวจเป็นเจ้าของแหล่งให้บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยภายนอกนั้น

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6
Ο 1. บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยเป็นไปตามมาตรฐาน กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ของท้องถิ่นและประเทศ
Ο 2. มีบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยที่เพียงพอ สมํ่าเสมอ และสะดวก พร้อมตอบสนองความต้องการที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายขององค์กรและประชากรผู้ป่วย ความต้องการของบริการสุขภาพของชุมชน และความต้องการกรณีฉุกเฉินนอกเวลาทำการปกติ
Ο 3. องค์กรสามารถระบุและติดต่อผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคเฉพาะทางเมื่อจำเป็น
Ο 4. แหล่งบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยภายนอกได้รับการเลือกตามข้อเสนอแนะของหัวหน้า ผลงานเป็นที่ยอมรับในเรื่องขีดสมรรถนะที่ตรงเวลา และการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
Ο 5. ผู้ป่วยได้รับทราบความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ผู้ส่งตรวจกับแหล่งบริการรังสีวิทยา และ/หรือ บริการภาพวินิจฉัยภายนอก (ดูที่ GLD.12.1, ME 1)


มาตรฐาน AOP.6.1
ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (คนหนึ่งหรือมากกว่า) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการหน่วยบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย

เจตนาของ AOP.6.1
บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยซึ่งจัดขึ้นในทุกจุดขององค์กร อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมโดยประวัติการศึกษา การฝึกอบรม ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง | ผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวมีความรับผิดชอบทางวิชาชีพในการดูแลหน่วยงานและบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย | ผู้ที่จะให้คำปรึกษาทางคลินิกหรือความเห็นทางการแพทย์เป็นแพทย์ และควรเป็นรังสีแพทย์ถ้าเป็นไปได้ | การให้บริการรังสีรักษาหรือบริการพิเศษอื่นๆ กระทำภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

หน้าที่รับผิดชอบของห้วหน้าหน่วยรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย ได้แก่

  • การจัดทำ นำสู่การปฏิบัติ และคงไว้ซึ่งนโยบายและระเบียบปฏิบัติ
  • การกำกับดูแลด้านบริหารจัดการ
  • การคงไว้ซึ่งโปรแกรมควบคุมคุณภาพที่จำเป็น
  • การให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแหล่งภายนอกที่ให้บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย
  • การติดตามและทบทวนบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยทั้งหมด (ดูที่ GLD.9)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6.1
Ο 1. บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมหนึ่งคนหรือมากกว่า
Ο 2. มีการกำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการจัดทำ นำไปปฏิบัติ และคงไว้ซึ่งนโยบายและระเบียบปฏิบัติ
Ο 3. มีการกำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการกำกับดูแลด้านบริหารจัดการ (administrative oversight)
Ο 4. มีการกำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการดำเนินการและคงไว้ซึ่งโปรแกรมควบคุมคุณภาพ
Ο 5. มีการกำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแหล่งบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยภายนอก (ดูที่ GLD.6, ME 4)
Ο 6. มีการกำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการติดตามและทบทวนบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยทั้งหมด


มาตรฐาน AOP.6.2
บุคลากรที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์เหมาะสม เป็นผู้ทำการตรวจด้านภาพวินิจฉัย แปลผล และจัดทำรายงานการตรวจ

เจตนาของ AOP.6.2
องค์กรกำหนดเจ้าหน้าที่หน่วยรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยที่จะทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยด้วยภาพ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการตรวจ ณ จุดให้บริการที่ข้างเตียง ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะแปลผลหรือทวนสอบ และรายงานผลการตรวจ รวมถึงผู้ที่จะทำหน้าที่หัวหน้าหรือกำกับดูแลกระบวนการตรวจ | ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลและเจ้าหน้าที่เทคนิคได้รับการฝึกอบรม มีประสบการณ์ มีทักษะเพียงพอและเหมาะสม ได้รับการแนะนำงานให้เกิดความคุ้นเคยกับงานที่จะต้องปฏิบัติ | เจ้าหน้าที่เทคนิคได้รับการมอบหมายงานที่สอดคล้องกับการฝึกอบรมและประสบการณ์ของแต่ละคน | นอกจากนั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ตรวจ แปลผล รายงานผลได้ทันที และจัดให้มีบุคลากรที่จำเป็นตลอดเวลาทำการและสำหรับกรณีฉุกเฉิน (ดูที่ SQE.4)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6.2
Ο 1. มีการกำหนดผู้ทำหน้าที่ตรวจทางรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย และผู้ทำหน้าที่หัวหน้าหรือกำกับดูแลการตรวจ
Ο 2. บุคลากรซึ่งมีคุณสมบัติและประสบการณ์เหมาะสมเป็นผู้ทำการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพ
Ο 3. บุคลากรซึ่งมีคุณสมบัติและประสบการณ์เหมาะสมเป็นผู้แปลผลการตรวจ
Ο 4. บุคลากรซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้สอบทานและรายงานผลการตรวจ
Ο 5. มีจำนวนบุคลากรเพียงพอเพื่อตอบสนองภาวะความต้องการของผู้ป่วย (ดูที่ GLD.9, ME 2 และ SQE.6,ME 2)
Ο 6. ผู้กำกับดูแลมีคุณสมบัติและประสบการณ์เหมาะสม


มาตรฐาน AOP.6.3
มีโปรแกรมความปลอดภัยทางรังสีพร้อมในระบบ ได้รับการปฏิบัติและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และคงไว้ซึ่งการปฏิบัติตามโปรแกรมบริหารจัดการอาคารสถานที่และโปรแกรมควบคุมการติดเชื้อ ℗

เจตนาของ AOP.6.3
องค์กรมีโปรแกรมความปลอดภัยทางรังสีที่ได้รับการปฏิบัติจริง ครอบคลุมทุกองค์ประกอบของบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยขององค์กร รวมถึงการรังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง และห้องปฏิบัติการสวนหลอดเลือดหัวใจ | โปรแกรมความปลอดภัยทางรังสีสอดคล้องกับความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น | โปรแกรมความปลอดภัยระบุถึงวิธีปฏิบัติที่ปลอดภัยและมาตรการป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ของหน่วยรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย เจ้าหน้าที่อื่นๆ และผู้ป่วย | โปรแกรมความปลอดภัยดังกล่าวได้รับการประสานกับโปรแกรมจัดการความปลอดภัยขององค์กร

โปรแกรมการจัดการความปลอดภัยทางรังสีประกอบด้วย

– นโยบายและระเบียบปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรฐาน กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
– นโยบายและระเบียบปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับโปรแกรมบริหารจัดการอาคารสถานที่และโปรแกรมควบคุมการติดเชื้อ
– มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยพร้อมใช้ เหมาะสมกับการปฏิบัติงานและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
– การปฐมนิเทศเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยทุกคน และ
– การให้การศึกษาระหว่างประจำการสำหรับวิธีการตรวจใหม่ๆ และวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาใหม่หรือเพิ่งรับรู้ (ดูที่ FMS.4, FMS.4.1 และ FMS.5)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6.3
Ο 1. มีการดำเนินการตามโปรแกรมความปลอดภัยทางรังสี เหมาะสมกับความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งภายในหรือนอกแผนก
Ο 2. โปรแกรมความปลอดภัยทางรังสีเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมบริหารจัดการอาคารสถานที่และโปรแกรมควบคุมการติดเชื้อขององค์กร และรายงานตามโครงสร้างความปลอดภัยขององค์กรอย่างน้อยปีละครั้ง และเมื่อมีเหตุการณ์ที่มีผลต่อความปลอดภัยเกิดขึ้น
Ο 3. มีกระบวนการหรืออุปกรณ์เฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงทางรังสีที่บ่งชี้ไว้ (เช่น เสื้อตะกั่ว แผ่นตรวจวัดรังสีประจำตัว และอื่นๆ ที่คล้ายกัน)
Ο 4. เจ้าหน้าที่ของหน่วยรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยได้รับการปฐมนิเทศเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัย และได้รับการศึกษาและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับวิธีการ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ใหม่ๆ (ดูที่ FMS.11.1, ME 1; GLD.9, ME 4; และ SQE.8, MEs 3 และ 4)


มาตรฐาน AOP.6.4
มีผลของการศึกษาทางรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยพร้อมให้บริการในเวลาที่เหมาะสมตามที่องค์กรกำหนด ℗

เจตนาของ AOP.6.4
องค์กรกำหนดระยะเวลาในการรายงานการศึกษาทางรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย | ผลการตรวจได้รับการรายงานภายในช่วงเวลา ตามภาวะความต้องการของผู้ป่วย บริการที่องค์กรจัด และความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ | ผลการตรวจได้รับการรายงานภายในช่วงเวลา ตามภาวะความต้องการของผู้ป่วย บริการที่องค์กรจัด และความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ | การกำหนดช่วงเวลารายงานผลนี้ครอบคลุมความต้องการในการตรวจวิเคราะห์กรณีฉุกเฉิน การตรวจนอกเวลาทำการ และการตรวจในวันหยุดด้วย | ผลการการศึกษาทางรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยเร่งด่วนที่ส่งจากห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด และหอผู้ป่วยวิกฤติ ได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษในกระบวนการติดตามวัดคุณภาพ | การศึกษาทางรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยที่ทำโดยผู้ให้บริการตามสัญญานอกองค์กรมีการรายงานเป็นไปตามนโยบายขององค์กรหรือความต้องการในสัญญา

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6.4
Ο 1. องค์กรกำหนดระยะเวลารายงานผลการตรวจที่คาดหวัง
Ο 2. มีการติดตามวัดความรวดเร็วของการรายงานผลการตรวจเร่งด่วน/ฉุกเฉิน
Ο 3. ผลการการศึกษาทางรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยถูกรายงานภายในเวลาเพื่อตอบสนองภาวะความต้องการของผู้ป่วย (ดูที่ ASC.7, ME 1)


มาตรฐาน AOP.6.5
เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยทุกชิ้นได้รับการตรวจสอบ บำรุงรักษา สอบเทียบ อย่างสมํ่าเสมอ และกิจกรรมเหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้อย่างเหมาะสม ℗

เจตนาของ AOP.6.5
บุคลากรหน่วยรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยสร้างความมั่นใจว่าเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ทุกชิ้นอยู่ในสภาพที่ใช้งานในระดับที่ยอมรับได้ และในลักษณะที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ |  โปรแกรมบริหารจัดการเครื่องมือของหน่วยรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยประกอบด้วย

– การคัดเลือกและจัดหาเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์
– การบ่งชี้และจัดทำบัญชีรายการเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์
– การประเมินเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้งานโดยการตรวจสอบ ทดสอบ สอบเทียบ และบำรุงรักษา
– การติดตามและดำเนินการเมื่อมีข้อสังเกตเกี่ยวกับอันตรายจากเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีการเรียกกลับ มีอุบัติการณ์ที่ได้รับรายงาน มีปัญหาและข้อบกพร่องต่างๆ และ
– การบันทึกในระบบบริหารจัดการเครื่องมือ

ความถี่ในการทดสอบ บำรุงรักษา และสอบเทียบ ขึ้นกับการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ และประวัติการให้บริการที่บันทึกไว้ (ดูที่ FMS.8 และ FMS.8.1)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6.5
Ο 1. มีโปรแกรมบริหารจัดการเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ของหน่วยรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย ได้รับการนำไปปฏิบัติ และบันทึกไว้
Ο 2. โปรแกรมดังกล่าวครอบคลุมการคัดเลือกและจัดหาเครื่องมือทางรังสีวิทยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์
Ο 3. มีการจัดทำบัญชีรายการเครื่องมือทางรังสีวิทยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์
Ο 4. มีการตรวจสอบและทดสอบเครื่องมือทางรังสีวิทยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ และเป็นไปตามอายุ การใช้งาน และข้อเสนอแนะของผู้ผลิต และมีการบันทึกผลหลังจากการตรวจสอบ
Ο 5. มีการสอบเทียบและบำรุงรักษาเครื่องมือทางรังสีวิทยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ผลิต
Ο 6. องค์กรมีระบบภายในสำหรับการติดตามกำกับดูแลและดำเนินการเมื่อมีข้อสังเกตเกี่ยวกับอันตรายจากเครื่องมือทางรังสีวิทยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีการเรียกกลับ มีเหตุการณ์ที่ได้รับรายงาน มีปัญหาและข้อบกพร่องต่างๆ


มาตรฐาน AOP.6.6
มีฟิล์มเอกซเรย์และวัสดุอื่นๆ พร้อมใช้ตลอดเวลา

เจตนาของ AOP.6.6
องค์กรระบุฟิล์ม นํ้ายาและวัสดุที่จำเป็นสำหรับการให้บริการทางรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยที่ให้แก่ผู้ป่วยเป็นประจำ | มีกระบวนการสั่งซื้อหรือสร้างความมั่นใจว่าจะมีฟิล์ม นํ้ายาและวัสดุอื่นๆ ที่จำเป็นที่มีประสิทธิผล | วัสดุทั้งหมดได้รับการจัดเก็บและเบิกจ่ายตามระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ ซึ่งรวมข้อแนะนำของผู้ผลิตไว้ด้วย | มีการประเมินนํ้ายาที่ใช้เป็นระยะตามข้อแนะนำของผู้ผลิตเพื่อสร้างความมั่นใจในความถูกต้องและความเที่ยงของผลการตรวจ (ดูที่ AOP.6.8 และ FMS.5)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6.6
Ο 1. มีการระบุฟิล์ม นํ้ายาและวัสดุที่จำเป็น
Ο 2. มีฟิล์ม นํ้ายาและวัสดุที่จำเป็นพร้อมใช้
Ο 3. วัสดุทั้งหมดได้รับการเก็บและเบิกจ่ายตามแนวทางที่กำหนดไว้
Ο 4. วัสดุทั้งหมดได้รับการประเมินเพื่อความถูกต้องและผลลัพธ์เป็นระยะ
Ο 5. วัสดุทั้งหมดได้รับการเขียนฉลากอย่างครบถ้วนและถูกต้อง


มาตรฐาน AOP.6.7
มีระเบียบปฏิบัติในการควบคุมคุณภาพพร้อมในระบบ ได้รับการปฏิบัติและบันทึกเป็นหลักฐาน ℗

เจตนาของ AOP.6.7
ระบบควบคุมคุณภาพที่เหมาะสมมีความจำเป็นในการให้บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยที่เป็นเลิศ (ดูที่ GLD.11) | กระบวนการควบคุมคุณภาพประกอบด้วย

– การทวนสอบ (validation) วิธีการตรวจที่ใช้ เพื่อตรวจหาความถูกต้องและความเที่ยง
– การเฝ้าติดตามผลการถ่ายภาพประจำวันโดยเจ้าหน้าที่รังสีวิทยาที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
– การปฏิบัติการแก้ไขอย่างรวดเร็วเมื่อพบข้อบกพร่อง
– การตรวจทดสอบนํ้ายาและสารละลาย และ
– การบันทึกผลการตรวจวิเคราะห์และปฏิบัติการแก้ไข

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6.7
Ο 1. มีโปรแกรมควบคุมคุณภาพสำหรับบริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย และได้รับการนำไปปฏิบัติ
Ο 2. โปรแกรมควบคุมคุณภาพหมายรวมการทวนสอบวิธีการตรวจ
Ο 3. โปรแกรมควบคุมคุณภาพหมายรวมการเฝ้าระวังผลการถ่ายภาพประจำวัน และมีการบันทึกไว้
Ο 4. โปรแกรมควบคุมคุณภาพหมายรวมการตรวจทดสอบนํ้ายาและสารละลาย และมีการบันทึกไว้
Ο 5. โปรแกรมควบคุมคุณภาพหมายรวมการแก้ไข และบันทึกไว้เมื่อพบข้อบกพร่องอย่างรวดเร็ว


มาตรฐาน AOP.6.8 (ทำให้ชัดเจน)
องค์กรทบทวนผลการควบคุมคุณภาพสำหรับบริการตรวจวินิจฉัยที่ส่งตรวจภายนอกอย่างสม่ำเสมอ

เจตนาของ AOP.6.8
องค์กรที่ใช้บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัยจากภายนอก ได้รับและทบทวนผลการควบคุมคุณภาพจากแหล่งตรวจภายนอกนั้นอย่างสมํ่าเสมอ | ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้ทบทวนผลการควบคุมคุณภาพ | หากเป็นการยากที่จะได้รับผลการควบคุมคุณภาพการถ่ายภาพจากแหล่งตรวจภายนอก หัวหน้าหน่วยจะใช้ทางเลือกอื่นสำหรับการกำกับดูแลคุณภาพ (ดูที่ AOP.6.6)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ AOP.6.8
Ο 1. องค์กรกำหนดความถี่และประเภทของข้อมูลควบคุมคุณภาพจากแหล่งตรวจภายนอก
Ο 2. ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมซึ่งรับผิดชอบควบคุมคุณภาพทางรังสีวิทยาหรือผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่ได้รับมอบหมาย ทบทวนผลการควบคุมคุณภาพจากแหล่งตรวจภายนอก
Ο 3. ผู้รับผิดชอบหรือผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการตามข้อมูลควบคุมคุณภาพ
Ο 4. มีการรายงานข้อมูลการควบคุมคุณภาพจากแหล่งตรวจภายนอกให้แก่ผู้นำเป็นประจำทุกปี เพื่อใช้ในการทำสัญญาและการต่อสัญญา


AOP – AOP.1-AOP.4 | บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ | ธนาคารโลหิตและ/หรือการให้เลือด | บริการรังสีวิทยาและภาพวินิจฉัย