การยืนยันความถูกต้องและการวิเคราะห์ข้อมูลการวัดผล (Analysis and Validation of Measurement Data)
มาตรฐาน QPS.4
โปรแกรมคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยรวมถึง การรวมยอดและวิเคราะห์ข้อมูล สนับสนุนต่อการดูแลผู้ป่วย การจัดการองค์กร และโปรแกรมบริหารคุณภาพ และมีส่วนร่วมในฐานข้อมูลจากภายนอก
เจตนาของ QPS.4
องค์กรเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลยอดรวมเพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยและการบริหารจัดการองค์กร | ข้อมูลยอดรวมทำให้เห็นภาพลักษณะสำคัญขององค์กรตามช่วงเวลาที่ผ่านไป และเปิดโอกาสให้มีการเปรียบเทียบขีดสมรรถนะขององค์กรกับองค์กรอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการระดับองค์กรที่เลือกโดยผู้นำองค์กร | ดังนั้นข้อมูลรวมยอดจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาขีดสมรรถนะขององค์กร | โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลรวมยอดจากการบริหารความเสี่ยง การจัดการระบบสาธารณูปโภค การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และการทบทวนการใช้ทรัพยากร สามารถช่วยให้องค์กรเข้าใจขีดสมรรถนะปัจจุบันและระบุโอกาสพัฒนา | ฐานข้อมูลจากภายนอกมีประโยชน์ในการตรวจสอบการปฏิบัติทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องตามที่ระบุใน SQE.11
องค์กรที่เข้าร่วมกับฐานข้อมูลขีดสมรรถนะจากภายนอก สามารถเปรียบเทียบขีดสมรรถนะของตนเองกับองค์กรที่คล้ายคลึงกัน ในท้องถิ่น ในประเทศ และกับต่างประเทศ | การเปรียบเทียบขีดสมรรถนะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลในการหาโอกาสพัฒนาและบันทึกระดับขีดสมรรถนะขององค์กร | บ่อยครั้งที่เครือข่ายบริการสุขภาพและกลุ่มผู้ซื้อหรือผู้จ่ายเงินเพื่อบริการสุขภาพจะขอข้อมูลดังกล่าว | ฐานข้อมูลจากภายนอกมีหลากหลายตั้งแต่ฐานข้อมูลการประกันสุขภาพ ไปจนถึงฐานข้อมูลที่ดำเนินการโดยสมาคมวิชาชีพ | องค์กรอาจต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับกำหนดในการส่งข้อมูลให้กับฐานข้อมูลภายนอก | ในทุกกรณีดังกล่าวจะต้องมีการรักษาความลับและความมั่นคงของข้อมูลและสารสนเทศ
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ QPS.4
Ο 1. โปรแกรมคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยมีกระบวนการรวมยอดข้อมูล
Ο 2. ข้อมูลและข้อมูลสารสนเทศรวมยอดสนับสนุนการดูแลผู้ป่วย การบริหารจัดการองค์กร การสอบทานการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพ และสนับสนุนโปรแกรมคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย
Ο 3. ข้อมูลและข้อมูลสารสนเทศรวมยอดส่งข้อมูลให้แก่ฐานข้อมูลภายนอกตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ
Ο 4. องค์กรเปรียบเทียบขีดสมรรถนะโดยใช้ฐานข้อมูลอ้างอิงจากภายนอก (ดูที่ PCI.6 และ PCI.6.1)
Ο 5. มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความลับของข้อมูลเมื่อมีการส่งข้อมูลให้หรือใช้ฐานข้อมูลภายนอก
มาตรฐาน QPS.4.1
มีการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลขององค์กรอย่างเป็นระบบ โดยผู้มีประสบการณ์ ความรู้ และทักษะที่เหมาะสม
เจตนาของ QPS.4.1
ข้อมูลจะต้องถูกนำมาประมวล (aggregate) วิเคราะห์ และแปลงไปเป็นสารสนเทศที่ใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและตัดสินใจ | การวิเคราะห์ข้อมูลทำโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการสารสนเทศ มีทักษะในวิธีการประมวลข้อมูล และรู้วิธีการใช้เครื่องมือทางสถิติที่หลากหลาย | ผลของการวิเคราะห์ข้อมูลต้องรายงานให้แก่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกระบวนการหรือผลลัพธ์ที่ถูกวัด และผู้ที่สามารถลงมือปฏิบัติการต่อผลลัพธ์ดังกล่าว | บุคคลดังกล่าวอาจเป็นบุคลากรสายงานคลินิก ด้านการบริหารจัดการ หรือทั้งสองกลุ่ม | การวิเคราะห์ข้อมูลทำให้มีสารสนเทศด้านการบริหารคุณภาพสะท้อนกลับอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยในการตัดสินใจของบุคลากร และปรับปรุงกระบวนการด้านคลินิกและด้านบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง
ความเข้าใจเทคนิคทางสถิติจะช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลความหมายของความแปรปรวน และการตัดสินใจว่าจำเป็นต้องปรับปรุงที่จุดใด | Run charts, control charts, histograms และ Pareto charts เป็นตัวอย่างของเครื่องมือทางสถิติที่ช่วยให้เข้าใจแนวโน้มและความแปรปรวนในบริการสุขภาพ
โปรแกรมคุณภาพกำหนดความถี่ในการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูล | ความถี่ขึ้นกับกิจกรรมหรือประเด็นที่ถูกวัด ความถี่ของการวัด และลำดับความสำคัญขององค์กร ตัวอย่างเช่น ข้อมูลควบคุมคุณภาพของห้องปฏิบัติการทางคลินิกอาจจะถูกวิเคราะห์ทุกสัปดาห์ตามระเบียบข้อบังคับในท้องถิ่น และข้อมูลการพลัดตกหกล้มของผู้ป่วยอาจจะถูกวิเคราะห์ทุกเดือนถ้าการพลักตกหกล้มนั้นเกิดไม่บ่อย | ดังนั้น การประมวลข้อมูลเป็นระยะเมื่อเวลาผ่านไปทำให้องค์กรสามารถตัดสินความเสถียรของกระบวนการที่ศึกษา หรือความสามารถที่จะทำนายได้ของผลลัพธ์ที่ศึกษาเทียบกับความคาดหวัง
เป้าหมายการวิเคราะห์ข้อมูลคือทำให้สามารถเปรียบเทียบองค์กรใน 4 ลักษณะ ดังนี้
- เปรียบเทียบกับตนเองตามช่วงเวลาต่างๆ เช่น เดือนต่อเดือน หรือปีต่อปี
- เปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น เปรียบเทียบผ่านฐานข้อมูลอ้างอิง (reference databases)
- เปรียบเทียบกับมาตรฐานซึ่งกำหนดโดยองค์กรรับรองคุณภาพและองค์กรวิชาชีพ หรือมาตรฐานที่กำหนดโดยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และ
- เปรียบเทียบกับการปฏิบัติที่พึงประสงค์ซึ่งเป็นที่รับรู้และระบุไว้ในวารสารวิชาการในลักษณะของการปฏิบัติหรือแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือการปฏิบัติที่ดีกว่า (best or better practices)
การเปรียบเทียบเหล่านี้ช่วยให้องค์กรเข้าใจแหล่งและธรรมชาติของความแตกต่างที่ไม่พึงประสงค์ และช่วยกำหนดจุดเน้นของความพยายามในการพัฒนา (ดูที่ GLD.5)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ QPS.4.1
Ο 1. ข้อมูลได้รับการประมวล วิเคราะห์ และแปลงไปเป็นสารสนเทศที่ใช้ประโยชน์ได้เพื่อกำหนดโอกาสในการพัฒนา
Ο 2. บุคลากรที่มีประสบการณ์ ความรู้ และทักษะ ทางด้านคลินิกหรือด้านบริหารจัดการที่เหมาะสม มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว
Ο 3. มีการใช้เครื่องมือและเทคนิคทางสถิติในกระบวนการวิเคราะห์เมื่อมีความเหมาะสม
Ο 4. ความถี่ของการวิเคราะห์ข้อมูลเหมาะสมกับกระบวนการหรือผลลัพธ์ที่ศึกษา
Ο 5. มีการรายงานผลของการวิเคราะห์แก่ผู้มีภาระรับผิดชอบในการลงมือปฏิบัติ (ดูที่ GLD.1.2, ME 2)
Ο 6. มีการเปรียบเทียบภายในองค์กรตามช่วงเวลาต่างๆ กับองค์กรที่คล้ายคลึงกันเมื่อมีโอกาส กับมาตรฐานต่างๆ ตามความเหมาะสม และกับแหล่งวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์ตามวัตถุประสงค์
มาตรฐาน QPS.5 (ใหม่)
กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลมีอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปีเพื่อพัฒนาตามลำดับความสำคัญในระดับองค์กรภายใต้ต้นทุนและประสิทธิภาพ
เจตนาของ QPS.5
โปรแกรมคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยรวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบของการพัฒนาตามลำดับความสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำองค์กร (ดูที่ GLD 5, ME 4) | บุคลากรในโปรแกรมคุณภาพและความปลอดภัยออกแบบเครื่องมือที่ใช้ประมวลผลการใช้ทรัพยากรสำหรับกระบวนการที่มีอยู่ และทำการประเมินทรัพยากรใหม่ถ้ากระบวนการพัฒนา | ทรัพยากรอาจเป็นคน (เช่น เวลาที่ให้กับแต่ละขั้นตอนในกระบวนการ หรืออาจเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีหรือทรัพยากรอื่นๆ | การวิเคราะห์จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่าสิ่งใดส่งผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพและต้นทุน
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ QPS.5
Ο 1. ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและชนิดของทรัพยากรที่ใช้ถูกรวบรวมอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปีเพื่อพัฒนาตามลำดับความสำคัญในระดับองค์กรก่อนและหลังการพัฒนา
Ο 2. บุคลากรในโปรแกรมคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยทำงานกับหน่วยอื่นๆ เช่น ทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการเงิน เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล
Ο 3. ผลของการวิเคราะห์ใช้ปรับแต่งกระบวนการและรายงานกลไกการประสานงานคุณภาพให้กับผู้นำองค์กร
มาตรฐาน QPS.6
องค์กรใช้กระบวนการภายในเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง (validate) ของข้อมูล ℗
เจตนาของ QPS.6
โปรแกรมพัฒนาคุณภาพมีความถูกต้องใช้ได้ในระดับเดียวกับข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา | หากข้อมูลมีความบกพร่อง ความพยายามในการพัฒนาจะไม่ได้ผล | การวัดผลที่เชื่อได้จึงเป็นแก่นของการพัฒนาทั้งปวง | เพื่อทำให้มั่นใจว่ามีการเก็บข้อมูลที่ดี เป็นประโยชน์ จำเป็นต้องมีกระบวนการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลภายใน | การยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อ
a) มีการใช้ตัววัดใหม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัววัดทางคลินิกซึ่งตั้งใจใช้เพื่อช่วยองค์กรในการประเมินและปรับปรุงกระบวนการหรือผลลัพธ์ทางคลินิกที่สำคัญ)
b) ข้อมูลจะถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ขององค์กรหรือด้วยวิธีอื่น
c) มีการเปลี่ยนแปลงในตัววัดที่ใช้อยู่เดิม เช่น เปลี่ยนเครื่องมือเก็บข้อมูล เปลี่ยนกระบวนการสรุปสาระสำคัญของข้อมูล (data abstraction) หรือบุคคลผู้สรุปสาระสำคัญ
d) มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลจากตัววัดที่ใช้อยู่ชนิดที่อธิบายไม่ได้
e) มีการเปลี่ยนแปลงแหล่งข้อมูล เช่น เมื่อส่วนหนึ่งของเวชระเบียนผู้ป่วยถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แหล่งข้อมูลมีทั้งอิเล็กทรอนิกส์และกระดาษ หรือ
f) มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของการเก็บข้อมูล เช่น การเปลี่ยนแปลงอายุเฉลี่ยของผู้ป่วย การเจ็บป่วยร่วม การเปลี่ยนระเบียบวิธีการวิจัย ใช้แนวปฏิบัติใหม่ หรือมีการนำเทคโนโลยีและวิธีการรักษาใหม่เข้ามาใช้
การยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อทำความเข้าใจคุณภาพของข้อมูลคุณภาพและเพื่อกำหนดระดับความเชื่อมั่นที่ผู้ตัดสินใจจะมีต่อข้อมูลดังกล่าว | การยืนยันความถูกต้องของข้อมูลกลายเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการกำหนดลำดับความสำคัญสำหรับการวัด การเลือกว่าจะวัดอะไร การเลือกและทดสอบตัววัด การเก็บรวบรวมข้อมูล การยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และการใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนา
เมื่อองค์กรตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ทางคลินิก ความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือเรื่องอื่นๆ หรือในวิธีการอื่นที่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เช่น เว็บไซต์ขององค์กร องค์กรมีข้อผูกพันทางจริยธรรมที่จะให้ข้อมูลแก่สาธารณะที่ถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้มากที่สุด | ผู้นำขององค์กรมีภาระรับผิดชอบในการทำให้มั่นใจว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ | ความน่าเชื่อถือสามารถเกิดจากกระบวนการภายในขององค์กรเพื่อประเมินความถูกต้องสมบูรณ์ (validity) ของข้อมูล หรือโดยการประเมินขององค์กรที่สามที่เป็นอิสระ
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ QPS.6
Ο 1. องค์กรยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเข้าในกระบวนการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพโดยผู้นำองค์กร
Ο 2. องค์กรมีกระบวนการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลภายในซึ่งครอบคลุมข้อ a) ถึง f) ในหัวข้อเจตนา
Ο 3. มีการใช้วิธีการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล
Ο 4. ผู้นำขององค์กรรับเป็นภาระรับผิดชอบสำหรับความเชื่อถือได้ของข้อมูลคุณภาพและข้อมูลผลลัพธ์ที่นำเสนอต่อสาธารณะ (ดูที่ GLD.3.1, ME 3)
มาตรฐาน QPS.7
องค์กรใช้กระบวนการที่กำหนดไว้เพื่อกำหนดและจัดการกับอุบัติการณ์รุนแรง (sentinel event) ℗
เจตนาของ QPS.7
อุบัติการณ์รุนแรง (sentinel event) เป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง | การบาดเจ็บทางร่างกายอย่างรุนแรงรวมถึงการสูญเสียแขนขาหรือการทำงานของอวัยวะ | เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกว่า รุนแรง เพราะเป็นสัญญาณที่ต้องตรวจสอบและตอบสนองทันที | แต่ละองค์กรกำหนดคำนิยามปฏิบัติการของอุบัติการณ์รุนแรง ซึ่งรวมเหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
a) การเสียชีวิตที่ไม่อาจคาดการณ์ได้
– การเสียชีวิตซึ่งไม่เกิดจากธรรมชาติของการเจ็บป่วยหรือสภาวะเดิม (underlying condition) ของผู้ป่วย (เช่น การเสียชีวิตจากการติดเชื้อหลังผ่าตัด หรือการเสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดแดงในปอด (pulmonary embolism) ในโรงพยาบาล)
– การเสียชีวิตของทารกที่คลอดเมื่อครบกำหนด และ
– การฆ่าตัวตาย
b) การสูญเสียการทำงานของอวัยวะที่สำคัญอย่างถาวร ซึ่งไม่เกิดจากธรรมชาติของการเจ็บป่วยหรือสภาวะเดิม (underlying condition) ของผู้ป่วย
c) การผ่าตัดผิดตำแหน่ง ผิดหัตถการ ผิดตัวผู้ป่วย
d) การแพร่กระจายของโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง หรือความเจ็บป่วยจากการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด หรือการปลูกถ่ายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่ปนเปื้อน
e) การลักพาตัวทารก หรือการส่งทารกกลับบ้านให้กับพ่อแม่ผิดคู่ และ
f) การถูกข่มขืน หรือการกระทำรุนแรงในสถานที่ทำงาน เช่น การประทุษร้าย (ทำให้เสียชีวิตหรือสูญเสียการทำงานอย่างถาวร) หรือการฆาตกรรม (จงใจฆ่า) ผู้ป่วย บุคลากร ผู้ประกอบวิชาชีพ นักเรียนแพทย์ นักศึกษาฝึกงาน ผู้มาเยือน หรือผู้ขายของ ในขณะที่อยู่ในบริเวณองค์กร
คำนิยามอุบัติการณ์รุนแรงขององค์กรประกอบด้วยรายการในข้อ a) ถึง f) ข้างต้นและอาจรวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่กำหนดโดยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ หรือเหตุการณ์ที่องค์กรเห็นว่าเหมาะสมที่จะเพิ่มเข้าในบัญชีรายการอุบัติการณ์รุนแรง | เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่เข้าได้กับคำนิยามได้รับการประเมินด้วยการวิเคราะห์มูลเหตุ (root case analysis) ที่น่าเชื่อถือ |รายละเอียดที่ถูกต้องของเหตุการณ์จำเป็นต้องวิเคราะห์มูลเหตุอย่างน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงต้องทำการวิเคราะห์ทันทีหลังเหตุการณ์ถ้าเป็นไปได้ | การวิเคราะห์และแผนปฏิบัติการเสร็จภายใน 45 วันหลังจากเหตุการณ์หรือเมื่อตระหนักถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น | เป้าหมายของการวิเคราะห์มูลเหตุคือองค์กรมีความเข้าใจที่มาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น | เมื่อการวิเคราะห์มูลเหตุทำให้เห็นว่าการพัฒนาระบบหรือปฏิบัติการอื่นใดสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์รุนแรงดังกล่าวซํ้าได้ องค์กรจะออกแบบกระบวนการเสียใหม่และลงมือปฏิบัติการที่เหมาะสมอื่นๆ ร่วมด้วย
มีความสำคัญที่จะต้องให้ข้อสังเกตว่า คำว่า “อุบัติการณ์รุนแรง” ไม่ได้หมายถึงความผิดพลาดทางการแพทย์ (medical error) | อุบัติการณ์รุนแรงไม่ได้ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดทั้งหมด หรืออุบัติการณ์ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดเช่นกัน | การระบุเหตุการณ์ที่เป็นอุบัติการณ์รุนแรงไม่จำเป็นต้องมีการยอมรับผิดตามกฎหมายเสมอไป (ดู GLD.4.1, ME 2)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ QPS.7
Ο 1. ผู้นำขององค์กรกำหนดคำนิยามของอุบัติการณ์รุนแรง (sentinel event) ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบ a) ถึง f) ในหัวข้อเจตนา
Ο 2. องค์กรวิเคราะห์มูลเหตุของอุบัติการณ์รุนแรงในระยะเวลาที่กำหนดโดยผู้นำองค์กร ซึ่งไม่เกิน 45 วันหลังจากเหตุการณ์หรือเมื่อตระหนักถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
Ο 3. ผู้นำของโรงพยาบาลดำเนินการปฏิบัติตามผลลัพธ์ของการวิเคราะห์มูลเหตุ
มาตรฐาน QPS.8
มีการวิเคราะห์ข้อมูลเมื่อพบว่ามีแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์และข้อมูลมีความแปรปรวน ℗
เจตนาของ QPS.8
เมื่อองค์กรพบหรือสงสัยว่ามีความแตกต่างจากสิ่งที่คาดไว้และเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ องค์กรจะเริ่มวิเคราะห์อย่างเข้มข้นเพื่อกำหนดว่าควรเน้นการพัฒนาไปในเรื่องใดจึงจะดีที่สุด (ดูที่ MMU.7.1) | โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิเคราะห์อย่างเข้มข้นจะเริ่มเมื่อระดับ แบบแผน หรือแนวโน้มไม่เป็นที่พึงประสงค์และมีความแตกต่างอย่างมากจาก
– สิ่งที่คาดหวังไว้
– ระดับ แบบแผน หรือแนวโน้มขององค์กรอื่น หรือ
– มาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับ
มีการวิเคราะห์ข้อมูลในเหตุการณ์ต่อไปนี้:
a) ปฏิกิริยาจากการให้เลือดที่ได้รับการยืนยันทั้งหมด ถ้าประยุกต์ได้กับองค์กร
b) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรงทั้งหมด ถ้าประยุกต์ได้และถูกกำหนดโดยองค์กร
c) ความคลาดเคลื่อนทางยาที่สำคัญ ถ้าประยุกต์ได้และถูกกำหนดโดยองค์กร
d) ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการวินิจฉัยโรคก่อนและหลังผ่าตัด
e) เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือแบบแผนของเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการทำให้สงบระดับกลางหรือระดับลึก และการระงับความรู้สึก
f) เหตุการณ์อื่นๆ เช่น การติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านสุขภาพ และการระบาดของโรคติดเชื้อ
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ QPS.8
Ο 1. มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเข้มข้นเมื่อพบระดับ แบบแผน หรือแนวโน้มของเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์
Ο 2. มีการวิเคราะห์ปฏิกิริยาจากการให้เลือดที่ยืนยันแล้วทั้งหมด ถ้าประยุกต์ได้กับองค์กร (ดูที่ COP.3.3)
Ο 3. มีการวิเคราะห์เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรงทั้งหมด ถ้าประยุกต์ได้และถูกกำหนดโดยองค์กร (ดูที่ MMU.7)
Ο 4. มีการวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนทางยาที่สำคัญทั้งหมด ถ้าประยุกต์ได้และถูกกำหนดโดยองค์กร (ดูที่ MMU.7.1)
Ο 5. มีการวิเคราะห์ความแตกต่างสำคัญระหว่างการวินิจฉัยโรคก่อนและหลังผ่าตัด (ดูที่ ASC.7.2)
Ο 6. มีการวิเคราะห์เหตุการณ์หรือแบบแผนที่ไม่พึงประสงค์จากการทำให้สงบระดับปานกลางหรือระดับลึก และการระงับความรู้สึก (ดูที่ ASC.3.2 และ ASC.5)
Ο 7. มีการวิเคราะห์เหตุการณ์อื่นๆ ที่องค์กรกำหนด
มาตรฐาน QPS.9
องค์กรใช้กระบวนการที่กำหนดไว้เพื่อบ่งชี้และวิเคราะห์เหตุการณ์เกือบพลาด
เจตนาของ QPS.9
ในความพยายามที่จะเรียนรู้เชิงรุกว่าที่จุดใดในระบบระบบอาจจะมีจุดอ่อนต่อการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ องค์กรเก็บข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็น “เหตุเกือบพลาด” (near miss) และประเมินเหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อที่จะป้องกันการเกิดเหตุจริง | เริ่มด้วยการที่องค์กรกำหนดนิยามของเหตุเกือบพลาดและประเภทของเหตุการณ์ที่จะต้องรายงาน | ต่อมาคือการจัดให้มีกลไกการรายงานและนำไปปฏิบัติ และสุดท้ายมีกระบวนการในการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเรียนรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงกระบวนการในเชิงรุกเพื่อลดหรือขจัดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือเหตุเกือบพลาดได้ที่จุดใด (ดูที่ MMU.7.1)
องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ QPS.9
Ο 1. องค์กรกำหนดนิยามของเหตุเกือบพลาด
Ο 2. องค์กรกำหนดประเภทของเหตุการณ์ที่จะต้องรายงาน
Ο 3. องค์กรกำหนดกระบวนการรายงานเหตุเกือบพลาด
Ο 4. มีการวิเคราะห์ข้อมูลและลงมือปฏิบัติการเพื่อลดเหตุเกือบพลาด
QPS – การจัดการกิจกรรมคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย | การเลือกตัววัดและการเก็บข้อมูล | การยืนยันความถูกต้องและการวิเคราะห์ข้อมูลการวัดผล | การบรรลุและคงไว้ซึ่งการพัฒนา